ผบ.ทบ. 2 ชาติ “ไทย-เขมร” เปิดเจรจาปมปัญหาชายแดนใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง สามารถสยบศึกช่องบก ได้ข้อยุติให้แต่ละฝ่ายถอนกำลังถอยหลังไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมฝ่ายละ 200 เมตร รอคณะกรรมการเขตแดนร่วมเคลียร์ปัญหาการถือแผนที่ที่ไม่ตรงกัน ยืนยันสถานการณ์ไม่ตึงเครียดแล้ว ไม่มียิงปะทะใช้อาวุธอีก ก่อนมีการเจรจา นายกฯเผยผู้นำคุยกันรู้เรื่อง มั่นใจคลี่คลายได้ ด้านผู้ช่วย รมต.บัวแก้ว คาด “มาริษ” ถก รมว.กต.กัมพูชาที่ญี่ปุ่น ปม 2 ฝ่ายปะทะที่ช่องบก เผยปลาย มิ.ย.ประชุมคณะกรรมการชายแดนหยิบยกปัญหานี้คุย เชื่อมีผลที่ดี

“ศึกช่องบก” ยุติลงแล้วหลัง ผบ.ทบ.ไทย-เขมร เปิดฉากเจรจาถกปมปัญหาชายแดน โดยจะไม่มีการยิงปะทะใช้อาวุธกันอีก ทั้งนี้ เมื่อเวลา 14.25 น. วันที่ 29 พ.ค. พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. พร้อมด้วย พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 และคณะ เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ มาจอดยังลานจอดเฮลิคอปเตอร์ภายในศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทย ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เข้าประชุมกับหน่วยทหารในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.อ.พนานำคณะเดินทางด้วยรถยนต์ไปยังบริเวณประตูด่าน จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม พบกับ พล.อ.เมา โซะพัน ผบ.ทบ.กัมพูชา พูดคุยแก้ไขปัญหา หลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพการประชุม โดยการประชุมใช้เวลานาน 1 ชั่วโมง 20 นาที ก่อนมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้ 1.ให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) ที่จะจัดขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ 2.ให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในจุดที่เหมาะสม ลดการเผชิญหน้า 3.ให้รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ให้ใช้ความอดทนอดกลั้น

พล.ท.บุญสิน พาดกลาง มท.ภ.2 ให้สัมภาษณ์ว่า การเจรจาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผบ.ทบ.และนายทหารระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศพูดคุยร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเขตแดน โดยเฉพาะพื้นที่ช่องบก เป็นห่วงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นห่วงเศรษฐกิจของพี่น้องทั้ง 2 ประเทศ นายก รัฐมนตรีของ 2 ประเทศก็มีข้อห่วงใย จึงเร่งให้มีการพูดคุยหาแนวทางออกร่วมกัน จากผลการพูดคุย ทั้ง 2 ฝ่ายให้ถอนกำลังไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมฝ่ายละ 200 เมตร เพื่อรอคณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) โดยกระทรวงต่างประเทศ คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพื่อตัดปัญหาในพื้นที่ในการถือแผนที่ที่ไม่ตรงกัน ปัจจุบันเราเข้าใจกันดี กำลังพลของทั้ง 2 ประเทศต้องหาเวลาพูดคุยกัน ยุติข้อขัดแย้งที่จะนำมาซึ่งการใช้อาวุธ สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ยืนยันไม่มีความตึงเครียดแล้ว เราได้พูดคุยร่วมกันแล้ว เป็นไปตามที่นายกฯ และ รมว.กลาโหมได้ตกลงกันแล้ว


เมื่อถามว่า นอกจากเงื่อนไขถอย 200 เมตร ยังมีเงื่อนไขอื่นอีกหรือไม่ พล.ท.บุญสินกล่าวว่า ให้ผู้บังคับหน่วยพบปะพูดคุยกันเป็นประจำ ให้เกิดความเข้าใจกัน เมื่อถามว่านอกจากพื้นที่ช่องบกแล้ว ยังมีพื้นที่อื่นที่ต้องให้ความระมัดระวังหรือไม่ แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า มีบ้างนิดหน่อย แต่ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราอยู่ประจำจุดใครจุดมัน ขอฝากประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ขอให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการนำไปสู่การใช้กำลัง และการใช้อาวุธที่จะทำให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศเดือดร้อน ยืนยันจะไม่มีการปะทะกันและใช้อาวุธอย่างเด็ดขาด

ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถึงท่าทีผู้นำกัมพูชาเหมือนแข็งกร้าวขึ้นหลังเหตุปะทะกันระหว่างทหาร ไทยกับทหารกัมพูชาว่า สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภา และประธานองคมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โพสต์ลงโซเชียลสุดท้ายก็ไม่อยากให้มีการปะทะกัน ในฐานะผู้นำของแต่ละประเทศ ได้แสดงจุดยืนแล้วว่าต้องปกป้องประเทศของเรา มีการพูดคุยกันตกลงกันว่า ผบ.ทบ.จะไปคุยกันอย่างเป็นทางการช่วงบ่ายวันที่ 29 พ.ค และตั้งแต่เมื่อคืน 28 พ.ค.ก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น เพราะตกลงกันได้ว่าอยากให้สงบ ถอยกำลังออกมาทั้ง 2 ฝ่าย กระทรวงกลาโหมจะไปเคลียร์ให้เรียบร้อย เมื่อถามว่ามั่นใจว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปได้ใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า มั่นใจว่าจะคลี่คลาย เมื่อถามย้ำว่าระดับผู้นำคุยกันไม่มีปัญหาเหลือแค่ระดับปฏิบัติ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่มีปัญหาแต่ให้เป็นทางการยิ่งขึ้น เลยส่ง ผบ.ทบ.ของทั้ง 2 ประเทศไปคุยกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าความเข้าใจผิดเกิดจากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ต้องรอผลการพูดคุย ถ้าพูดอะไรไปก่อนจะเป็นปัญหาเพราะค่อนข้างอ่อนไหว แต่ในระดับผู้นำที่คุยกันไม่มีปัญหา เมื่อถามว่ามีรายงานข่าวกัมพูชาพร้อมเสริมกำลังประชิดแนวชายแดน นายกฯกล่าวว่า เป็นหลักเกณฑ์ของแต่ละประเทศ ถ้ามีเรื่องที่หนักขึ้นหรือต่อสู้กันมากขึ้นทั้ง 2 ประเทศต้องเสริมกำลัง ไม่มีใครปล่อยให้เกิดเรื่อง ฝ่ายไทยก็เช่นเดียวกัน ถ้าเกิดเรื่องรุนแรงขึ้นต้องเสริมกำลัง ต้องปกป้องคนของเรา เมื่อถามว่าอยากสื่อสารหรือส่งกำลังใจถึงทหารที่ดูแลพื้นที่ชายแดน หรือมอบนโยบายหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ขอส่งกำลังใจ ผบ.ทบ.จะไปคุยในรายละเอียดให้คลี่คลาย ไปคุยกันว่ามีอะไรที่ตกลงกันได้ ขอให้คุยกันด้วยสันติภาพ อยากให้คนในพื้นที่เข้าใจว่าเกิดอะไร ขอบคุณสื่อที่ถามทำให้คนในพื้นที่ที่รับฟังข่าวเข้าใจว่าเป็นอย่างไร


ด้าน นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ก.ต่างประเทศ กล่าวว่า นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ พูดคุยกับ รมว.ต่างประเทศกัมพูชาตลอดหลังเกิดเหตุ ขณะนี้ทั้งคู่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น น่าจะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เราพยายามจะลดระดับความขัดแย้งให้มากที่สุด เรามีคณะกรรมการร่วมชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (เจบีซี) จะเพิ่มการหารือเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กับฝ่ายกัมพูชาปลายเดือน มิ.ย. เมื่อถามว่ามีแนวโน้มเรื่องการปักปันเขตแดนชัดเจนขึ้นหรือไม่ นายรัศม์กล่าวว่า อยู่ในเรื่องของเจบีซี ปัญหาการปักปันเขตแดนต้องมีการพูดถึง แต่กระบวนการยาวนาน ต้องค่อยๆ ทำไป ทั้งนี้ การพูดคุยตามหลักการทูตเพื่อหาข้อยุติร่วมกันยังคงดำเนินการต่อไป

เมื่อถามย้ำว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะปัญหาชายแดนบริเวณช่องบกมีการปะทะกันมายาวนาน นายรัศม์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่ต้องพิสูจน์ สมัยก่อนเรื่องเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า ทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีเจตนารมณ์ที่ดีมาแก้ปัญหานี้ร่วมกัน ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ เพราะเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องความรู้สึกของประชาชนด้วย แต่อย่างน้อยคิดว่ามีการเจรจาย่อมดีกว่าไม่มี ตราบใดที่ยังเดินหน้าไปได้ สามารถเป็นไปตามทิศ ทางที่ควรจะเป็น แน่นอนเราต้องมีข้อยุติไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ถ้าเร็วได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรไปบีบ บังคับหน่วยงานทั้งสองฝ่าย ไปสร้างความคาดหวัง ความกดดัน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีหลายประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณา ต้องให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายพิสูจน์กันตามหลักฐาน

วันเดียวกัน ก่อนมีการเจรจาสงบศึก นายอาทิตย์ บุษบา นอภ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านพื้นที่ตามแนวชายแดน ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอน้ำยืน กำหนดมาตรการ หากมีการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา จะอพยพประชาชนไปอยู่ในที่ปลอดภัยตามหมู่บ้านและตั้งศูนย์อพยพที่ อ.เดชอุดม ที่ไกลจากจุดปะทะ 8 จุด ให้ตำรวจเป็นผู้จัดการจราจร อำนวยความสะดวกตามเส้นทางสายหลัก สายรองของอำเภอ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนระหว่างการอพยพ


นายพีระพล บุญพจน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านนาสามัคคี ต.ศรีวิเชียร อ.น้ำยืน เปิดเผยว่า ได้พาลูกบ้านทำความสะอาดหลุมหลบภัยที่รัฐสร้างขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ช่วงที่มีการต่อสู้ในพื้นที่ของบ้านภูมิสลอน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ของทหารไทยกับทหารกัมพูชา หลุมหลบภัยแห่งนี้สร้างมาประมาณ 6-7 ปี บรรจุชาวบ้านได้ประมาณ 60-70 คน แต่ไม่เพียงพอ ต้องกระจายชาวบ้านไปหลบภัยยังจุดอื่น ส่วนการสั่งการต้องรอนายอำเภอเป็นผู้สั่งการเพียงผู้เดียว ตอนนี้ทำได้เพียงทำความเข้าใจสถานการณ์กับชาวบ้านและติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ ซึ่งชาวบ้านก็มีความกังวลบ้างนิดหน่อย