โปสการ์ดอำลาจาก ‘อเมริกา’


—————

◾️ ความฝันของ ‘อเมริกา‘

◾️ เดินทางรอบโลกกับเรือควอว์เตม็อก

◾️ ภาพสุดท้ายที่กลายเป็นโปสการ์ดอำลา

◾️ ฝันที่ดับสูญใต้เงาสะพานบรุกลิน


—————

🔵 ความฝันของ ‘อเมริกา‘

:

1- “อเมริกา” (América Yamilet Sánchez) เป็นชื่อของเด็กสาวชาวเม็กซิกันวัย 21 ปี ผู้มีความมุ่งมั่น เธอใฝ่ฝันอยากเป็นทหารเรือมาตั้งแต่เด็ก


2- อเมริกาเข้าใกล้ความฝันของเธอเข้าไปทุกที เธอสอบเข้าโรงเรียนนายเรือ Heroica Escuela Naval Militar ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมนายทหารเรือชั้นนำของเม็กซิโก และกำลังจะเรียนจบติดยศนายร้อยในปีนี้


3- อเมริกาเป็น ‘นักเรียนนายเรือตัวอย่าง’ ที่มีทั้งวินัย ความมุ่งมั่น มีผลการเรียนดีเด่น และยังเป็นนักว่ายน้ำที่มีพรสวรรค์ เคยคว้าเหรียญรางวัลมาแล้วมากมาย


—————

🔵 เดินทางรอบโลกกับเรือควอว์เตม็อก

:

4- ก่อนสำเร็จการศึกษา อเมริกาได้รับเลือกให้เข้าร่วมภารกิจเดินทางรอบโลกกับ “เรือควอว์เตม็อก” (Cuauhtémoc) ซึ่งเป็นเรือใบฝึกอันทรงเกียรติของกองทัพเรือเม็กซิโก


5- เรือลำนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1982 ที่สเปน มันเดินทางมาแล้ว 64 ประเทศ (เคยมาไทยด้วย) รวมระยะทางเดินเรือเทียบเท่ากับการเดินทางรอบโลก 35 รอบ


6- เรือควอว์เตม็อกพาอเมริกา, เพื่อนนักเรียนนายเรือ และกะลาสีเรือรวม 277 ชีวิต (ผู้หญิง 64 คน, ผู้ชาย 213 คน) เดินทางรอบโลกเพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบ 200 ปีการเป็นอิสระทางทะเลของเม็กซิโก


—————

🔵 ภาพสุดท้ายที่กลายเป็นโปสการ์ดอำลา

:

7- เรือออกจากเม็กซิโกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2025 มีกำหนดแวะเยือน 15 ประเทศในเวลา 254 วัน เพื่อให้นักเรียนฝึกทักษะการเดินเรือ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในนามกองทัพเรือเม็กซิโก


8- วันที่ 13 พฤษภาคม เรือควอว์เตม็อกเดินทางมาถึงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และจอดเทียบท่าที่พิพิธภัณฑ์ South Street Seaport เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีนาน 4 วัน


9- อเมริกาตื่นเต้นมากที่ได้มาเยือนนิวยอร์ก เธอโพสต์รูปพร้อมแคปชั่น “NY ❤️” โดยไม่รู้เลยว่ารูปนี้จะกลายเป็น ‘โปสการ์ดอำลา’ ของตัวเธอเอง


—————

🔵 ฝันที่ดับสูญใต้เงาสะพานบรุกลิน

:

10- หลังจอดครบกำหนดแล้ว เวลา 2 ทุ่มของวันที่ 17 พฤษภาคม เรือควอว์เตม็อกก็ออกจากนิวยอร์ก เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายต่อไปคือไอซ์แลนด์


11- อเมริกาเป็นนักเรียนนายเรือยอดเยี่ยม จึงได้รีบเลือกให้ขึ้นไปประจำการบนเสากระโดงเรือร่วมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคน เพื่อจัดการใบเรือ ฝึกทักษะการเดินเรือแบบดั้งเดิม และรักษาประเพณีของกองทัพเรือ พวกเขาโบกมือลาประชาชนสองฝั่งน้ำ ในขณะที่วงดนตรีบรรเลงเพลงเพื่ออำลาชาวนิวยอร์ก


12- แต่ตอนเรือออกจากท่า ปรากฏว่าหางเสือเกิดขัดข้อง ทำให้เรือสูญเสียพลังงานและไม่สามารถบังคับทิศทางได้ เรือกลายเป็นวัตถุลอยน้ำที่ควบคุมไม่ได้ ถูกกระแสน้ำที่ทรงพลังพัดพาไปในทิศทางตรงกันข้าม


13- แล้ว 20 นาทีต่อมา เรือควอว์เตม็อกก็ลอยถอยหลังไปชนเข้ากับสะพานบรุกลิน เนื่องจากสะพานมีความสูงราว 41 เมตร ในขณะที่เสากระโดงเรือสูง 45-48 เมตร ทำให้ไม่สามารถลอดผ่านไปได้


14- เสากระโดงเรือทั้ง 3 เสาชนสะพานจนหักโค่นกลางลำ ลูกเรือบางคนพลัดตกลงมา หลายคนห้อยต่องแต่งอยู่กลางอากาศด้วยสายรัดนิรภัย ส่วนอเมริกา…เธอพลัดตกลงมาเสียชีวิต!


15- นอกจากอเมริกาแล้ว ยังมีผู้เสียชีวิตอีกคนคือ “อดัล” (Adal Jair Marcos) กะลาสีหนุ่มวัย 22 ปี ซึ่งทำงานอยู่บนเรือลำนี้มานาน 9 เดือน และมีลูกเรือได้รับบาดเจ็บอีกราว 20 คน ครึ่งหนึ่งอาการสาหัส


16- ยังไม่ชัดเจนว่ามีการแจ้งเตือนลูกเรือบนเสากระโดงหรือไม่ว่าเรือสูญเสียการควบคุม หรือแจ้งแล้วแต่ลูกเรือเลือกปฏิบัติหน้าที่ต่อ หรือประเมินสถานการณ์ผิดแล้วลงจากตำแหน่งไม่ทัน


17- แต่ผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนระบุว่า ลูกเรือหลายคนหันหลังให้สะพาน และรู้ตัวในวินาทีสุดท้ายก่อนเรือชน นั่นแสดงว่าพวกเขาอาจไม่ได้รับการแจ้งเตือน


18- ครอบครัวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและการจัดการวิกฤตบนเรือ พร้อมถามหาผู้รับผิดชอบ ตอนนี้กองทัพเรือเม็กซิโกและหน่วยงานของสหรัฐฯ กำลังสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง


19- อเมริกาฝันอยากให้แม่มีชีวิตที่ดีขึ้น เธอเคยบอกแม่ว่า “ถ้าหนูเรียนจบ แม่จะสบายแน่นอน แต่ถ้าหนูตายก่อนแม่ก็จะได้รับสวัสดิการ” บัดนี้ความฝันของนักเรียนนายร้อยหญิงแห่งกองทัพเรือเม็กซิโกที่ใกล้ถึงฝั่งแล้ว กลับต้องมาดับสูญใต้เงาสะพานบรุกลินอย่างน่าเสียดาย




—————

◾️ สรุปและเรียบเรียงจาก: EL PAÍS English, New ลบYork Post, CNN, Daily Mail, Agencia EFE, People, New York Daily News